ข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐

The Coronation of King Rama X

9 สถานที่สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

          สถานที่สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร  ขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562

          นับเป็นโอกาสสำหรับเหล่าพสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่จะได้เห็นและมีส่วนร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นโบราณราชประเพณีสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และเพื่อความรู้และความเข้าใจต่อพระราชพิธีที่จะปรากฏต่อสายตาประชาชนชาวไทยในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เราได้รวบรวมข้อมูล 9 สถานที่สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้กัน

1. วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร     

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

          เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 2350 หากพูดถึงในทางสถาปัตยกรรม วัดแห่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดที่มีการออกแบบได้สัดส่วนงดงามที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการวางแผนผังเป็นระบบตามประเพณีนิยมในพระพุทธศาสนา และมีการผสมผสานระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ได้อย่างกลมกลืน ประชาชนส่วนใหญ่นิยมมากราบไหว้นมัสการพระพุทธรูปสำคัญสามองค์ในวัด คือ พระศรีศากยมุนี, พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ และพระพุทธเสรฏฐมุนี นอกจากนี้ภายในวัดก็ยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เนื่องจากเป็นวัดประจำรัชกาล โดยที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเป็นที่บรรจุของพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์อีกด้วย

          สำหรับในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นสถานที่สำคัญในการเสกน้ำอภิเษกรวมจาก กรุงเทพมหานคร และ 76 จังหวัดทั่วประเทศ

2. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

          พระอารามหลวงชั้นพิเศษ เป็นที่ประดิษฐาน พระมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต รวมถึงใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาที่สำคัญต่าง ๆ ภายในมีอาคารสำคัญเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วย “กลุ่มพระอุโบสถ” ได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามตั้งแต่เพดานถึงพื้น กลางห้องประดิษฐาน "พระแก้วมรกต" ในบุษบกทองคำพร้อมด้วยพระพุทธรูปสำคัญมากมาย “กลุ่มฐานไพที” มีอาคารหลักสามหลัง คือ ปราสาทพระเทพบิดร พระมณฑป พระศรีรัตนเจดีย์ และวัตถุประดับตกแต่งอื่น ๆ และ “กลุ่มอาคารและสิ่งประดับอื่น ๆ” หอพระนาก พระเศวตกุฏาคารวิหารยอด หอมณเฑียรธรรม พระอัษฎามหาเจดีย์ ยักษ์ทวารบาล และจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียง เรียงต่อกันยาวตลอดฝาผนัง มีเนื้อหาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์

          สำหรับในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นสถานที่จารึกพระสุพรรณบัฏและการแกะพระราชลัญจกร ในวันอังคารที่ 23 เมษายน 2562

3. พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

          เป็นพระที่นั่ง 1 ชั้น ก่ออิฐถือปูน ทาสีขาว ยกพื้นสูง มีลักษณะเป็นจตุรมุข ตรงกลางจตุรมุขเป็นยอดปราสาท 7 ชั้น มีครุฑรับยอดปราสาทเป็นลักษณะเด่นของพระที่นั่งองค์นี้ ซุ้มพระทวารและพระบัญชร เป็นซุ้มทรงมณฑป มีตุ๊กตาหินแบบจีนทำเป็นรูปนักรบถือง้าวประดับทั้งสองข้าง โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเพื่อใช้เป็นพระมหาปราสาทสำหรับ "พระราชพิธีมณฑล" ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ แต่ในช่วงระหว่างรัชกาล มีพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงฝ่ายในบางพระองค์สิ้นพระชนม์ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระศพบนพระมหาปราสาทด้วยเช่นกัน เฉพาะในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงหลายพระองค์  และในปัจจุบันยังเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีฉัตรมงคลอีกด้วย

          สำหรับในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเสด็จกราบถวายบังคมและสดับปกรณ์พระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการีที่พระที่นั่งนี้

4. หมู่พระมหามณเฑียร

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thairoyalfamily

          เป็นหมู่พระที่นั่งภายในพระบรมมหาราชวังโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2325 เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับและเป็นพระราชพิธีมณฑลในพระราชพิธีปราบดาภิเษก ภายในประกอบด้วยพระที่นั่ง 3 หลัง ได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน, พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ปัจจุบัน พระมหามณเฑียรได้ใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลสำหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีสำคัญอื่น ๆ ในพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลในราชวงศ์จักรีสืบเนื่องกันมา

          สำหรับในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หมู่พระมหามณเฑียร เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

5. พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562
ภาพจาก phralan.in.th

          สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2325 สำหรับประทับทรงพระสำราญประกอบพระราชานุกิจต่าง ๆ ภายในพระที่นั่งเป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ และพระที่นั่งภัทรบิฐ ส่วนสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กระทำภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นต้นว่าการรับการถวายน้ำอภิเษก การถวายสิริราชสมบัติ การถวายเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชูปโภค พระแสง และพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร

          สำหรับในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นสถานที่สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เช่น การบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 และการเชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ และพระราชลัญจกร ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562

6. พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562
ภาพจาก phralan.in.th

          เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของพระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร ประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง ได้แก่ พระที่นั่งองค์ตะวันออก, พระวิมานบรรทม พระที่นั่งองค์กลาง และพระที่นั่งองค์ตะวันตก เรียงต่อกันไป ตามพระราชนิติธรรมประเพณี พระมหากษัตริย์ที่เสด็จขึ้นทรงราชย์แล้ว แต่ยังมิได้ทรงรับบรมราชาภิเษก จะไม่เสด็จประทับในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานนี้เป็นอันขาดต่อเมื่อจะได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษก ตามระบอบโบราณราชประเพณี จึงจะเสด็จขึ้นประทับได้ ปัจจุบันพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นที่ประดิษฐานเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงและเครื่องราชูปโภค

          สำหรับในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นอีกหนึ่งพระที่นั่งสำคัญในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ซึ่งพระมหากษัตริย์จะประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้ เพื่อเถลิงพระแท่นราชบรรจถรณ์

7. พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์

          ประดิษฐานอยู่ภายในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เป็นพระแท่น หรือพระที่นั่ง หรือพระราชอาสน์ ทำจากไม้อุทุมพร หรือ "มะเดื่อ" ทรงแปดเหลี่ยม ปิดทองประดับกระจก กางกั้นด้วยพระสัปตปฎลเศวตฉัตร ฉัตรขาว 7 ชั้น ประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง สำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นทรงประทับรับน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

          สำหรับในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ขึ้นประทับรับน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

8. พระที่นั่งภัทรบิฐ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thairoyalfamily

          พระเก้าอี้ มีเท้าแขนโค้งจากด้านหลังมาด้านหน้า ตั้งอยู่บนพระแท่น มีอัฒจันทร์สำหรับเสด็จขึ้น และวางอยู่บนพระแท่นลา (หรือพระแท่นเตี้ย) อีกชั้นหนึ่ง เบื้องหลังประดิษฐานพระมหาเศวตฉัตร สร้างด้วยไม้มะเดื่อหุ้มเงิน บนพระที่นั่งถูกปูลาดด้วยหญ้าคา โรยด้วยแป้งสาลีและปูลาดด้วยหนังราชสีห์หรือแผ่นทองจารึกรูปราชสีห์ ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นที่ประทับทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชูปโภค และเครื่องมงคลต่าง ๆ

          สำหรับในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระที่นั่งภัทรบิฐ เป็นพระที่นั่งที่พระมหากษัตริย์ประทับ เพื่อทรงรับการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธ เครื่องราชูปโภคและราชสมบัติ

9. พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน

          สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับเสด็จออกว่าราชการสำคัญ ทั้งยังใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีในงานสิริมงคลและการพระมหากุศลเป็นครั้งคราว ภายในองค์พระที่นั่งประดิษฐานพระแท่นราชบัลลังก์ 2 องค์คือ พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมานและพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ อันเป็นพระราชอาสน์สำหรับองค์พระมหากษัตริย์ประทับในงานพระราชพิธี ประดิษฐานอยู่ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร

          สำหรับในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ใช้เป็นสถานที่สำคัญสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

          พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 จึงนับเป็นอีกหนึ่งโอกาสอันดีที่เราคนไทยจะได้รับรู้พระราชพิธีสำคัญ อันมีมาแต่โบราณกาล ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์แห่งราชวงศ์จักรีอีกด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
เว็บไซต์ phralan.in.th, เฟซบุ๊ก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช๒๕๖๒, เฟซบุ๊ก Thairoyalfamily
TOP