ข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐

The Coronation of King Rama X

วิธีเตรียมพร้อมสุขภาพ ก่อนร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10

          เตรียมตัว เตรียมสุขภาพให้ดีก่อนเข้าร่วมพิธีในครั้งประวัติศาสตร์ชาติไทย กับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 10

เตรียมตัวมาร่วมพระราชพิธี
ภาพจาก Lillian SUWANRUMPHA / AFP

          ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เราจะสามารถเข้าร่วมพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 บันทึกไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งคนไทยทุกคนก็ล้วนอยากมีส่วนร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 ดังนั้นก่อนจะเดินทางไปร่วมงาน เรามาเตรียมสุขภาพให้พร้อม เพื่อให้ซาบซึ้งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้อย่างเต็มที่

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 10 วันที่เท่าไร

          กำหนดเปิดให้ประชาชนทั่วไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 จำนวน 2 วัน คือ

          - วันที่ 5 พฤษภาคม 2562 เวลา 16.30 น. ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค จากพระบรมมหาราชวังไปยังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร

          - วันที่ 6 พฤษภาคม 2562 เวลา 16.30 น. ในโอกาสเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เพื่อให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคลและชื่นชมพระบารมี

เตรียมตัวมาร่วมพระราชพิธี
ภาพจาก เฟซบุ๊ก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช๒๕๖๒

เตรียมตัว-เตรียมสุขภาพยังไงให้พร้อม

1. พักผ่อนให้เพียงพอ

          ก่อนเดินทางไปร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดนอน หรือนอนดึกติดต่อกันหลายวัน และเตรียมสุขภาพให้แข็งแรง ไม่ป่วยไข้ รับประทานอาหารให้อิ่ม โดยควรรับประทานอาหารที่สุกและปรุงใหม่ รวมทั้งไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

2. สวมเสื้อผ้าที่ถ่ายเทอากาศได้ดี

เตรียมตัวมาร่วมพระราชพิธี
ภาพจาก Lillian SUWANRUMPHA / AFP

          ในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อากาศอาจจะร้อนอบอ้าว แดดจัด จึงควรสวมใส่เสื้อผ้าเบาสบาย เลือกเสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติถ่ายเทอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าคอตตอน ผ้าลินิน เป็นต้น

3. พกอุปกรณ์กันแดด

          ก่อนออกจากบ้านควรทาครีมกันแดดทั้งผิวหน้าและผิวกาย และสวมหมวก พกร่ม พัด ผ้าเย็น ติดตัวไปด้วย เพื่อช่วยคลายร้อนและกันแดดจัด ๆ ถ้าเป็นไปได้ พยายามอยู่ในที่ร่มอากาศถ่ายเทได้ดี และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีแดดแรงเป็นเวลานาน

4. พกน้ำดื่มติดตัวตลอด

          การตากแดดเป็นเวลานานอาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำได้ง่ายกว่าปกติ ดังนั้นควรจิบน้ำดื่มเป็นระยะ ๆ แม้จะไม่รู้สึกหิวน้ำก็ตาม เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำหรือฮีตสโตรก และพกผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าขนหนู สำหรับชุบน้ำเช็ดหน้าและร่างกาย หากต้องอยู่ในที่มีอากาศร้อนและอบอ้าวเป็นเวลานาน

5. พกอาหารเล็ก ๆ น้อย ๆ 

          ควรพกอาหารที่ไม่บูดเสียง่าย เช่น ข้าวเหนียวหมูทอด ข้าวเหนียวไก่ทอด หรือขนมปังชนิดไม่มีไส้ ติดตัวไปด้วย นอกจากนี้ พลตำรวจโท ไกรบุญ ทรวดทรง ผบ.ยุทธศาสตร์ตำรวจ ยังได้แนะนำให้ประชาชนพกกล้วยตาก มาเป็นอาหารในกรณีที่รู้สึกหิว เพราะกล้วยตากพกพาง่าย ไม่บูดเสียง่าย และเป็นอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกายได้ทันที มีวิตามินและแร่ธาตุค่อนข้างสูงนั่นเอง

6. อย่าลืมยา

          ไม่ว่าจะเป็น ยาดม ยาหม่อง พิมเสนน้ำ และสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องพกยารักษาโรคประจำตัวไปด้วย และหากเดินทางมาคนเดียว ควรเขียนประวัติย่อ ๆ โดยแจ้งข้อมูลชื่อ ที่อยู่ ป่วยโรคอะไร แพ้ยาอะไร พกยาไว้ตรงไหน พร้อมโรงพยาบาลที่รักษาประจำ และหมายเลขติดต่อญาติไว้กับตัว เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินคนรอบข้างจะได้ช่วยเหลือได้ทัน

          หากเกิดอาการ วิงเวียน หน้ามืดจะเป็นลม มึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หายใจเร็ว ตัวร้อนกระหายน้ำมาก ใจสั่น มือสั่น เป็นตะคริว ให้รีบบอกกลุ่มญาติพี่น้อง และสามารถขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทีมแพทย์เดินเท้า และจิตอาสาเฉพาะกิจด้านการแพทย์บริเวณการจัดงานพระราชพิธีทันที กรณีมีเหตุฉุกเฉินสามารถติดต่อสายด่วนสุขภาพ 1323 หรือ 1669 ได้ตลอดเวลา

เช็กจุดบริการอาหาร น้ำดื่ม และสุขา

          ภายในบริเวณจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีโรงครัวพระราชทาน และจุดบริการอาหารและน้ำดื่ม ดังนี้

จุดบริการอาหาร

          - วัดเทพศิรินทราวาส

          - บ้านมนังคศิลา

          - สนามม้านางเลิ้ง

          - บริเวณเชิงสะพานพุทธ

          - บ้านพิษณุโลก

          - ใต้สะพานพระรามแปด ฝั่งเขตบางพลัด

เตรียมตัวมาร่วมพระราชพิธี
ภาพจาก phralan.in.th 

จุดบริการน้ำดื่ม

          บริเวณจุดให้บริการอาหารทั้ง 6 จุด รวมถึงในโซนต่าง ๆ จะมีน้ำขวดให้บริการ พร้อมทั้งมีรถบริการน้ำดื่มแบบเติมจำนวน 8 คัน กระจายตามจุดต่าง ๆ ทั่วบริเวณ

เตรียมตัวมาร่วมพระราชพิธี
ภาพจาก phralan.in.th

จุดให้บริการสุขาเคลื่อนที่

          บริเวณจุดให้บริการอาหารทั้ง 6 จุด จุดละ 2 คัน และกระจายตามโซนต่าง ๆ อีกกว่า 40 คัน พร้อมรถสุขาเคลื่อนที่เสริมอีก 29 คันในกรณีที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานของประชาชน

เตรียมตัวมาร่วมพระราชพิธี
ภาพจาก phralan.in.th

เช็กจุดบริการทางการแพทย์

          ในกรณีเจ็บไข้ได้ป่วย สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้ตามจุดต่าง ๆ ดังนี้

          - โซนที่ 1 ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า พระแม่ธรณีบีบมวยผม ซอยหน้าพระธาตุ ปากซอยถนนจันทร์ (วัดพระธาตุ) ท่าช้าง (ท่าเรือ) ซ.หัยเผย (ศาลหลักเมือง)

          - โซนที่ 2 หน้าพิพิธภัณฑ์เหรียญ ถ.บูรณศาสตร์ หน้าวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครพาณิชยการ แยกโรงเรียนตะละภัฏศึกษา ถ.ข้าวสาร ถ.ตะนาว

          - โซนที่ 3 วัดสามพระยา ถ.พระสุเมรุ วัดชนะสงคราม วัดตรีทศเทพ โรงควบคุมคุณภาพน้ำรัตนโกสินทร์ อาคารจอดรถ กทม. โรงเรียนสตรีวิทยา

          - โซนที่ 4 เทเวศประกันภัย แยกสะพานวันชาติ หน้าอาคารสยามเฮ้าท์ ลานพลับพลา มหาเจษฎาบดินทร์ แมกซ์แฟชั่น ถนนสนามหลวง สมาคมโรงแรมไทย ถนนดินสอ

          - โซนที่ 5 แยกเสาชิงช้า แยกเฉลิมกรุง วงเวียน สน.พระราชวัง โรงเรียนราชบพิธ สี่กั๊กพระยาศรี

          - โซนที่ 6 เทคโนโลยีตั้งตงจิตรพาณิชยการ แยกชุมชนท่าเตียน กพร.ทร. มิวเซียมสยาม   

เตรียมตัวมาร่วมพระราชพิธี
ภาพจาก phralan.in.th

          เพื่อความสะดวกสบายในการเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 10 ควรเตรียมร่างกายและสุขภาพให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอด้วยนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

phralan.in.th
กรมสุขภาพจิต

TOP