ข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐

The Coronation of King Rama X

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชา ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

        เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชา จะใช้ในวันที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นเครื่องแสดงว่าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินถูกต้องสมบูรณ์แล้ว

งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ภาพจาก phralan.in.th

        พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ พระราชทานปฐมบรมราชโองการแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งหลายว่า "เราจะสืบสานรักษาและต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป"
       
        ในการนี้ ว่าด้วยเรื่องความสำคัญของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชา ซึ่งพราหมณ์ผู้ทำพิธีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในวันที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นเครื่องแสดงว่าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ประกอบด้วย

พระมหาพิชัยมงกุฎ

งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ภาพจาก เฟซบุ๊ก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

        เป็นพระมหาพิชัยมงกุฎทองคำลงยาราชาวดีประดับเพชร สูง 66 เซนติเมตร น้ำหนัก 7.3 กิโลกรัม สร้างขึ้นเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในรัชกาลที่ 1 สมัยนั้นยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ ยังเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ประดับเพชรเม็ดเล็ก ๆ จนถึงรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยไปเลือกสรรหาซื้อเพชรขนาดใหญ่มาจากประเทศอินเดีย นำมาประดับยอดมงกุฎแทนพุ่มข้าวบิณฑ์ พระราชทานเพชรเม็ดนี้ว่า "พระมหาวิเชียรมณี" เพชรเม็ดนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.6 เซนติเมตร สูงประมาณ 1.4 เซนติเมตร

        สมัยโบราณถือว่า มงกุฎมีค่าสำคัญเท่ากับราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ และพระมหาเศวตฉัตรเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุด เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับมงกุฎมาแล้ว ก็เพียงทรงวางไว้ข้างพระองค์ แต่ต่อมาเมื่อประเทศไทยติดต่อกับประเทศในทวีปยุโรปมากขึ้น จึงนิยมตามราชสำนักยุโรปที่ถือว่า ภาวะแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ที่เวลาได้สวมมงกุฎ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงเชิญทูตานุทูตในประเทศไทยร่วมในพระราชพิธี และทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎมาทรงสวม แต่นั้นมาก็ถือว่าพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นสิ่งสำคัญในบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระมหากษัตริย์จะทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก


พระแสงขรรค์ชัยศรี


งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ภาพจาก phralan.in.th

        เป็นพระขรรค์โบราณ เชื่อกันว่าเป็นพระราชศาสตราคู่บ้านคู่เมืองเขมร สมัยพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์จมอยู่ในทะเลสาบเมืองนครเสียมราฐ มาเป็นเวลานานเท่าใดไม่มีใครทราบ ชาวประมงไปทอดแหติดขึ้นมาองค์พระขรรค์ยังดีไม่มีสนิมผุกร่อน ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง และนครเสียมราฐ จึงได้มอบให้พระยาพระเขมร เชิญเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อปี 2327 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำด้ามพระขรรค์หุ้มทองคำลงยาราชาวดีลายเทพนม ทำฝักหุ้มทองคำลงยาราชาวดีประดับมณีขึ้นด้วยฝีมืออันประณีตงดงาม เสร็จแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี 2328

        พระแสงองค์นี้ เฉพาะองค์ยาว 64.5 เซนติเมตร ที่สันตอนใกล้จะถึงด้ามคร่ำด้วยทองคำเป็นลวดลายงดงาม ด้ามพระขรรค์ ยาว 25.4 เซนติเมตร สวมฝักแล้วยาว 101 เซนติเมตร หนัก 1.9 กิโลกรัม

งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ThaiArmedForce.com

        นอกจากนี้ พระแสงดาบอีกองค์หนึ่ง ที่มีการอัญเชิญออกมาตามเสด็จในพิธีวันนี้คือ "พระแสงดาบคาบค่าย" หนึ่งในพระแสงดาบสำคัญที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดมีรับสั่งให้สร้างขึ้นมาใหม่แทนองค์เดิมของสมเด็จพระนเรศวรที่สูญหาญหายไปหลังจากการเสียกรุงครั้งที่ 2


ธารพระกร

งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ภาพจาก phralan.in.th

        เป็นไม้ชัยพฤกษ์ หุ้มทองคำตลอด ปลายสุดของธารพระกรทำเป็นซ่อมสามง่าม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายไว้ว่า "ลักษณะก็เหมือนกับไม้เท้าพระภิกษุที่สำหรับใช้ในการชักมหาบังสุกุล" ธารพระกรองค์นี้สร้างขึ้นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์แต่รัชกาลที่ 1



พระวาลวิชนี


งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ภาพจาก phralan.in.th

        ของเดิมสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นพัดใบตาลแบบที่เรียกกันว่า พัชนีฝักมะขาม ที่ใบตาลปิดทอง ขอบขลิบทองคำ ด้ามก็ทำด้วยทองคำต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริว่า ตามพระบาลีที่เรียกว่า "วาลวิชนี" นั้นไม่ควรจะเป็นพัดใบตาล ควรจะเป็นเครื่องโบกปัดที่ทำด้วยขนจามรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแส้จามรีขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ภายหลังใช้ขนหางช้างเผือกแทน เรียกว่าพระแส้ขนหางช้างเผือก แต่ก็ไม่อาจที่จะเลิกใช้พัดใบตาลของเดิมได้จึงโปรดให้ใช้ควบคู่กัน โดยเรียกของสองสิ่งรวมกันว่า "วาลวิชนี"


ฉลองพระบาท


งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ภาพจาก phralan.in.th

        เป็นฉลองพระบาทเชิงงอน ทำด้วยทองคำยาราชาวดีฝังเพชร มีน้ำหนัก 650 กรัม สร้างเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหาราชครูวามหามุนีเป็นผู้สวมถวาย

งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ThaiArmedForce.com

งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ThaiArmedForce.com


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก, จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๐ กันยายน ๒๕๓๗, เฟซบุ๊ก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, เฟซบุ๊ก ThaiArmedForce.com

TOP