พระราชประวัติ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐

การศึกษา รัชกาลที่ ๑๐

เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๙ ขณะที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ มีพระชนมายุ ๔ พรรษา ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ ๑ ณ โรงเรียนจิตรลดา ที่ตั้งอยู่ ณ พระที่นั่งอุดร ในพระราชวังดุสิต

ต่อมาพุทธศักราช ๒๕๐๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปทรงเข้ารับการศึกษาต่อระดับประถมศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ที่โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซ็กส์ และในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซัมเมอร์เซต จนถึงเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓

ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓ ได้เสด็จพระราชดำเนินจากประเทศอังกฤษไปทรงศึกษาวิชาการทหารที่โรงเรียนคิงส์ เขตพารามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นโรงเรียนเตรียมทหาร หลังทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยในกิจการเกี่ยวกับกองทัพและกิจการทหาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาเป็นเวลา ๕ สัปดาห์

พุทธศักราช ๒๕๑๕ ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งหลักสูตรของวิทยาลัยการทหารแห่งนี้แบ่งออกเป็น ๒ ภาค คือ ภาควิชาการทหาร รับผิดชอบและดำเนินการโดยกองทัพบก ออสเตรเลีย นักเรียนที่สำเร็จตามหลักสูตรนี้จะได้เป็นนายทหารยศร้อยโท ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นการศึกษาวิชาสามัญ ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ รับผิดชอบการวางหลักสูตร แบ่งออกเป็นสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ นักเรียนนายร้อยที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับปริญญาตรีตามสาขาวิชาที่เลือกศึกษา โดยพระองค์ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ ทรงสำเร็จการศึกษา พุทธศักราช ๒๕๑๙

เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทย ทรงรับราชการทหารและทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ ๔๖ พุทธศักราช ๒๕๒๐ ทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ ๒ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พุทธศักราช ๒๕๒๕ ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๒)

นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาต่อยังวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และทรงรับการฝึกอบรมหลักสูตรทางการทหาร การบินอีกหลายหลักสูตร ทรงผ่านการฝึกอบรมเครื่องบินรบจนมีพระปรีชาสามารถและมีจำนวนชั่วโมงบินสูงมาก รวมทั้งทรงศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์ จากสถาบันการบินพลเรือน ทรงสอบได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี

เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๗ ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์เอก จากบริษัท การบินไทย และทรงสำเร็จการศึกษาและการบินด้วยเครื่องบินพาณิชย์จริง ทรงได้รับใบอนุญาตเป็นกัปตันเครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗ ด้วยความสนพระราชหฤทัยและวิริยอุตสาหะทำให้พระองค์ทรงมีพระปรีชาชาญด้านการบิน รอบรู้ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ จนได้รับพระนามให้เป็น “เจ้าฟ้านักบิน”

← กลับไปหน้าแรก