เผยที่มาพระยศพิเศษพระนามใหม่ สมเด็จพระเทพฯ-พระองค์โสมฯ ในรัชกาลที่ 10
เผยที่มาการสถาปนา พระราชอิสริยยศใหม่พระราชวงศ์ เมื่อเปลี่ยนรัชกาล พระยศพิเศษ สมเด็จพระเทพฯ-พระองค์โสมฯ เฉลิมพระนามใหม่ ในรัชกาลที่ 10
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562
ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ
พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกหนึ่งพระราชพิธีสำคัญที่พสกนิกรเฝ้าชื่นชม
คือพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย
และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562
โดย praew.com เผยที่มาการสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้
พระยศพิเศษของ "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" และ
"พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ" ซึ่งทรงได้รับพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ 9 นับว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก
โดยมีการคาดเดากันว่า จะได้รับการปรับเปลี่ยนหรือไม่ อย่างไร
แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ซึ่งทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์
และเฉลิมพระนามาภิไธย ดังนี้
ทั้งนี้
จะเห็นได้ว่า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มิได้รับพระราชทานสายสะพาย
และได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 เพียงอย่างเดียว
เนื่องจากฐานันดรของพระองค์ท่าน สูงที่สุดของฝ่ายใน
เทียบเท่าพระบรมราชชนนีแล้ว
พร้อมทั้งเฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี" เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2520 ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา ของรัชกาลที่ 9
สำหรับ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
ทรงได้รับการสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน
และเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี
กรมหมื่นสุทธนารีนาถ" (พระ-เจ้า-วอ-ระ-วง-เทอ-พระ-อง-เจ้า-โสม-สะ-วะ-ลี-กรม-มะ-หมื่น-สุด-ทะ-นา-รี-นาด)
โดยพระองค์โสมฯ ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร เป็นอดีตพระวรชายาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และทรงเป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ของหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร กับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร จึงทรงเป็นทั้งพระภาติยะ (หลานที่เป็นลูกของพี่ชายหรือน้องชาย) และอดีตพระสุณิสา (ลูกสะใภ้) ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็น "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ" ซึ่งนับเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระวรชายา ทรงมีพระธิดาพระองค์เดียวคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี
ทั้งนี้
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี
พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้รับพระกรุณา โปรดเกล้าฯ สถาปนาฐานันดรเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน
และรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์
กับเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1
ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก คลังประวัติศาสตร์ไทย ได้อธิบายความเป็นมาและหลักเกณฑ์การสถาปนาพระราชอิสริยยศใหม่ของพระราชวงศ์ เมื่อเปลี่ยนรัชกาล ดังนี้
- ยศพิเศษ 1 ตามธรรมเนียมแล้วจะไม่มีการลดพระราชอิสริยยศของเจ้านายในพระราชวงศ์ ถึงแม้จะเปลี่ยนรัชกาลแล้วก็ตาม คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระราชอิสริยยศนี้สูงส่งที่สุดของเจ้านายฝ่ายในแล้ว นั่นก็คือ ได้รับสัปตปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 7 ชั้น เสมอเท่าสมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระบรมราชินี แต่มีความพิเศษสูงไปอีกอย่างคือ ใช้คำ "พระราชบัญชา" ในการออกคำสั่ง
- ยศพิเศษ 2 คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในอดีตเจ้านายพระองค์นี้ผ่านการเป็นพระวรชายามาก่อน แล้วถึงเป็นพระวรราชาทินัดดามาตุในภายหลัง (พระวรราชาทินัดดามาตุ หมายถึง เป็นแม่ของหลานกษัตริย์ผู้ประเสริฐ) ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนมาเป็นสมัยพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ทำให้พระองค์ย่อมไม่ได้อยู่ในฐานะแม่ของหลานกษัตริย์พระองค์เก่า แต่เป็นพระชนนี หรือแม่ของพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในรัชกาลปัจจุบัน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก เฟซบุ๊ก คลังประวัติศาสตร์ไทย, praew.com