ข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐

The Coronation of King Rama X

6 วัดสำคัญ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.10 ประวัติเก่าแก่ อยู่คู่คนไทยมานาน

          ทำความรู้จัก 6 วัดสำคัญ ที่ใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญกับราชวงศ์จักรี เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของไทย และอยู่คู่คนไทยมายาวนาน

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

         การจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 ซึ่งมีกำหนดการต่าง ๆ ตามโบราณพระราชประเพณีของไทย โดยมีสถานที่สำคัญหลายแห่งที่ใช้ประกอบพระราชพิธี และทางกระปุกดอทคอม จะพาไปทำความรู้จัก 6 วัดสำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่คู่คนไทยและพระราชพิธีสำคัญมาอย่างยาวนาน

1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

         เป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2325 ในพระบรมมหาราชวัง โดยไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ สมัยอยุธยา
 
         ภายในวัดประกอบด้วยศาสนสถานสำคัญ ได้แก่ พระศรีรัตนเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ปราสาทพระเทพบิดร ประดิษฐานพระบรมรูปบูรพมหากษัตริย์ พระอัษฎามหาเจดีย์ พระระเบียงคดเขียนจิตรกรรมฝาผนัง เรื่อง รามเกียรติ์โดยรอบ ที่สำคัญ คือ พระอุโบสถเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี และรัฐพิธีทางพระพุทธศาสนา อาทิ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

2. วัดบวรนิเวศวิหาร

วัดบวรนิเวศวิหาร
ภาพจาก ธรรมะไทย

         พื้นที่เดิมเป็นที่ตั้งของวัด 2 วัด ประกอบด้วย วัดรังษีสุทธาวาส และวัดที่สมเด็จพระบวรราช เจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงสถาปนาขึ้นใหม่อีกวัดหนึ่งคือ วัดใหม่ หรือวัดวังหน้า เมื่อ พ.ศ. 2397 ในรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้รวมวัดทั้ง 2 เข้าด้วยกันและพระราชทานนามวัดขึ้นใหม่เป็น วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ขณะทรงพระผนวชเป็นเจ้าอาวาสวัด ได้ตั้งคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายขึ้นที่นี่เป็นครั้งแรก

         โดยเป็นวัดที่ รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 7, รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เคยประทับจำพรรษาขณะทรงพระผนวช อีกทั้งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชกรุงรัตนโกสินทร์ ๔ พระองค์

         ภายในวัดมีแผนผังศาสนสถาน ตามอย่างสมัยรัตนโกสินทร์คือ มีพระเจดีย์เป็นประธาน พระวิหาร และพระอุโบสถเป็นอาคารประกอบหลัก มีลักษณะสถาปัตยกรรมไทยผสมจีน ตามแบบพระราชนิยมในสมัย

         โดยในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตรา ทางสถลมารคไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อทรงนมัสการพระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถและถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

3. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ภาพจาก ธรรมะไทย

         พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 โดยมีพระมหาเจดีย์เป็นศูนย์กลางของวัด ส่วนพระอุโบสถ พระวิหารตั้งอยู่รอบข้างเชื่อมถึงกันด้วยระเบียงคดรอบพระเจดีย์ ทุกอาคารประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ ภายในพระอุโบสถและพระวิหารประดับตกแต่งตามแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมตะวันตก มีพระพุทธอังคีรส เป็นพระประธานในพระอุโบสถ

         ภายใต้พุทธบัลลังก์ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 7 พระราชสรีรางคาร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 และพระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 9 ชานกำแพงด้านทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งสุสานหลวงบรรจุพระสรีรางคารพระบรมวงศานุวงศ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จสังฆราชมาแล้ว 2 พระองค์ และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน

         ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จ พระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพื่อทรงนมัสการพระพุทธอังคีรส พระประธานในพระอุโบสถและถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7

4. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ภาพจาก ธรรมะไทย

         พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดเก่าในสมัยอยุธยาชื่อ วัดโพธาราม หรือวัดโพธิ์ ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม พระราชทานนามว่าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ขยายอาณาเขตพระอารามด้านทิศใต้และทิศตะวันตก รวมถึงจารึกความรู้สรรพวิชาการ เช่น ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ตำราการแพทย์แผนไทย ตำรานวด และตำรายา ไว้ตามเสาศาลารายโดยรอบ ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะแล้วทรงเปลี่ยนสร้อยนามพระอารามเป็น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

          พระอารามแห่งนี้ มีสิ่งสำคัญประกอบด้วย พระอุโบสถเก่า พระวิหารพระพุทธไสยาส พระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล และประติมากรรมรูปฤาษีดัดตน ใต้พุทธบัลลังก์พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุ พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงถือกันว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1

         ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อทรงนมัสการพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถและถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

5. วัดสุทัศนเทพวราราม

วัดสุทัศนเทพวราราม

         สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ตรงพื้นที่ที่เป็นศูนย์รวมชุมชน เป็นศูนย์รวมศาสนสถานทั้งพุทธ และพราหมณ์กลางพระนคร แผนผังเขตพุทธาวาสจำลองภูมิจักรวาลตามคติมณฑลแบบพุทธ พระวิหารหลวงประดิษฐานพระศรีศากยมุนี หรือหลวงพ่อโต ซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองสุโขทัย ชุกชี (ฐานพระพุทธรูป) ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 8

         ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมพุทธประวัติ และเรื่องในวรรณคดี ด้านหน้าพระอุโบสถมีสัตตมหาสถาน หรือสัญลักษณ์แสดงสถานที่ พระพุทธองค์ประทับภายหลังการตรัสรู้ 7 แห่ง ด้วยความสำคัญของสถานที่ตั้งและคติความเชื่อทางศาสนา วัดสุทัศนเทพวรารามจึงเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญทางศาสนาของบ้านเมือง

         ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 10 เป็นสถานที่เสกน้ำอภิเษกจาก 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่อแห่เชิญไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม รวมทั้งน้ำจากเบญจสุทธคงคาและน้ำจากสระ 4 สระ

6. วัดอรุณราชวราราม

วัดอรุณราชวราราม

          เดิมชื่อวัดมะกอก สร้างในสมัยอยุธยา ปฏิสังขรณ์สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้ง และเปลี่ยนเป็นวัดอรุณราชวราราม หลังการปฏิสังขรณ์อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 2 วัดนี้มีศาสนสถานสำคัญ คือ พระปรางค์ที่สร้างมาแต่รัชกาลที่ 2 และสร้างเพิ่มเติมแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ได้มีการฉลองในรัชกาลที่ 4

         โดยมีพระปรางค์ประธานขนาดใหญ่สูง 81 เมตร มีพระปรางค์องค์เล็กและมณฑปประจำทิศทั้ง 4 ทั้งหมดมีสีขาว ประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องสีงดงามยิ่ง พระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยนามว่า พระพุทธธรรมิศราชโลกธาตุดิลก ที่หน้าพระประธานประดิษฐานพระอรุณ หรือพระแจ้ง ศิลปะล้านช้างอัญเชิญมาไว้แต่ครั้งรัชกาลที่ 4 ปัจจุบันพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของประเทศไทยและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
         
        
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน

TOP