พระราชกรณียกิจในหลวง รัชกาลที่ 9 ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

ในหลวง - King of Thailand
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นคุณประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มีหลากหลายมากมายโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางแผนพัฒนา ทรงเสนอแนะ ให้ส่วนราชการ ร่วมดำเนินการตามพระราชดำริ โดยร่วมทรงงานกับหน่วยงานของส่วนราชการ ซึ่งมีทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร และประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สำนักงาน กปร. ตั้งแต่ปีงบประมาณ2525-2540 มีจำนวน 1,955 โครงการ แยกออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ 8 ประเภท คือ การเกษตร สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาแหล่งน้ำ คมนาคมสื่อสาร สวัสดิการสังคม และอื่น ๆ

1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการจัดการทรัพยากรน้ำ

จากการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนพสกนิกรนับตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์ ทำให้ทรงตระหนักว่าภัยแล้งและน้ำเพื่อการเกษตรและบริโภคอุปโภคเป็นปัญหาที่รุนแรงและสำคัญที่สุด การจัดการทรัพยากรน้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและบริโภคอุปโภค นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญ และมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศในการช่วยให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี ในปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกส่วนใหญ่ทุกภาคของประเทศเป็นพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝน และน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอตามที่ต้องการ เป็นผลให้ผลผลิตที่ได้รับไม่ดีเท่าที่ควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใฝ่พระราชหฤทัยเกี่ยวกับการจัดการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอย่างยิ่ง มีพระราชดำริว่าน้ำคือปัจจัยสำคัญต่อมนุษย์และบรรดาสิ่งมีชีวิตอย่างถ่องแท้ ดังพระราชดำรัส ณ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2529 ความตอนหนึ่งว่า

"...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้..."

ในการจัดการทรัพยากรน้ำนั้นทรงมุ่งขจัดปัญหาความแห้งแล้งอันเนื่องมาจากสภาพของป่าไม้ต้นน้ำเสื่อมโทรม ลักษณะดินเป็นดินปนทราย หรือการขาดแหล่งน้ำจืด การจัดการทรัพยากรน้ำโดยการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น มีหลักและวิธีการที่สำคัญ ๆ คือ การพัฒนาแหล่งน้ำจะเป็นรูปแบบใด ต้องเหมาะสมกับรายละเอียดสภาพภูมิประเทศแต่ละท้องที่เสมอ และการพัฒนาแหล่งน้ำต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในด้านเศรษฐกิจ และสังคมของท้องถิ่น หลีกเลี่ยงการเข้าไปสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับคนกลุ่มหนึ่ง โดยสร้างประโยชน์ให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับการลงทุนนั้นจะมีความเหมาะสมเพียงใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้การทำงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกแห่งจึงพระราชทานพระราชดำริไว้ว่า ราษฎรในหมู่บ้าน ซึ่งได้รับประโยชน์จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน โดยจัดการช่วยเหลือผู้ที่เสียประโยชน์ตามความเหมาะสมที่จะตกลงกันเอง เพื่อให้ทางราชการสามารถเข้าไปใช้ที่ดินทำการก่อสร้างได้ โดยไม่ต้องจัดซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นพระบรมราโชบายที่มุ่งหวังให้ราษฎรมีส่วนร่วมกับรัฐบาล และช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในสังคมของตนเอง และมีความหวงแหน ที่จะต้องดูแลบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างนั้นต่อไปด้วย

2. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้

ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อมให้แก่ มวลมนุษยชาติ ช่วยควบคุมให้สภาพดินฟ้าอากาศอยู่ในสภาพปกติ รักษาต้นน้ำลำธาร พันธุ์พฤกษชาติ และสัตว์ป่า อีกทั้งยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ป่าไม้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์ได้บริโภคใช้สอย ได้ประกอบอาชีพด้านการทำไม้ เก็บของป่า การอุตสาหกรรมไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบจากไม้ และของป่า แต่สภาพปัจจุบันมีแรงผลักดันให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าไม้ เพื่อบุกเบิกพื้นที่ทำการเกษตร ลักลอบตัดไม้ป้อนโรงงานอุตสาหกรรม และเผ่าถ่าน นอกจากนี้ การเร่งการดำเนินงานบางโครงการ เช่น การก่อสร้างถนน สร้างเขื่อน ฯลฯ ทำให้มีการตัดไม้ โดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ป่าไม้จึงมีเนื้อที่ลดลงตามลำดับ และบางแห่งอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างมาก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งเน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้เป็นแนวทางหลักในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ด้วยทรงตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมฉับพลัน และการพังทลายของดินอย่างรุนแรง จึงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาป่าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่าการจัดการทรัพยากรป่าไม้ มีความเกี่ยวโยงกับการอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ จึงทรงเน้นการอนุรักษ์และพัฒนาป่าต้นน้ำเป็นพิเศษ จากแนวพระราชดำริของพระองค์ก่อให้เกิดโครงการพัฒนา และบำรุงป่าไม้จำนวนมากมายทั่วประเทศ โดยเฉพาะป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธารให้คงสภาพอยู่เดิม เพื่อป้องกันอุทกภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ถนอมน้ำไว้ใช้สำหรับหล่อเลี้ยงแม่น้ำลำธารด้วย

พระราชกรณียกิจที่สำคัญที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรม มีตัวอย่าง คือ

1. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจรวมทั้งรูปแบบการพัฒนาต่าง ๆ ที่ทำให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ

2. โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อบำรุงฟื้นฟูป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธารให้คงสภาพอยู่เดิม อันจะเป็นประโยชน์ในการป้องกันอุทกภัย และรักษาสภาพแหล่งต้นน้ำลำธาร

3. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ได้ประสบผลสำเร็จอย่างสูงในด้านการลดปัญหาการบุกรุกทำลายป่า การป้องกันไฟป่า และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วยการแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการปลูกป่าที่เรียบง่าย ประหยัด เหมาะสมกับราษฎรที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง โดยการปลูกป่าทดแทนให้ได้ประโยชน์อเนกประสงค์

4. โครงการป่าสาธิตส่วนพระองค์ พระตำหนักสวนจิตรลดา เพื่ออนุรักษ์ รวบรวมและขยายพันธุ์พฤกษชาติรวมทั้งพืชสมุนไพร เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรป่าไม้

5. โครงการชุมชนพัฒนาป่าชายเลนิ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มีวัตถุประสงค์ที่จะทำการพัฒนาชุมชนให้มีความสำนึกในความรู้ความเข้าใจในการใช้ทรัพยากรชายฝั่ง เป็นการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลนในอีกมิติหนึ่งของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่อาศัยความเกี่ยวพันและเกื้อกูลซึ่งกันและกันของมนุษย์กับธรรมชาติ

6. โครงการศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง อำเภอยะหริ่ง จังหวัด ปัตตานี มีเป้าหมายมุ่งเน้นให้เกิดประสิทธิภาพในด้านการจัดการและสงวนรักษาทรัพยากรป่าชายเลน มีเจตนารมณ์ที่จะให้ทุกฝ่ายมีความรู้ ความเข้าใจของสมดุลระบบนิเวศชายฝั่ง และสร้างความร่วมมือรวมพลังกันระหว่างชุมชนและนักวิชาการที่จะปกปักรักษาและพัฒนาป่าชายเลนให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

7. ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธริ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัด นราธิวาส มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของป่าพรุ อันจะทำให้การพัฒนาพื้นที่พรุเป็นไปอย่างสอดคล้องผสมผสานกันทั้งในเรื่องการอนุรักษ์ และการพัฒนาพื้นที่เขตต่าง ๆ ในป่าพรุได้ดำเนินการไปพร้อมกันอย่างได้ผลดียิ่ง ทำให้ป่าพรุได้รับการใช้ประโยชน์อย่างอเนกประสงค์ ควบคู่กับการสร้างสมดุลของระบบนิเวศ

3. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการจัดการทรัพยากรที่ดิน

ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และรายได้ของประเทศมาจากการขยายพื้นที่การเพาะปลูก มากกว่าการเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ จนถึงขณะนี้ประมาณได้ว่าพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรมได้ใช้ไปจนเกือบหมด และเกษตรกรพยายามหาพื้นที่ใหม่ด้วยการอพยพโยกย้ายกระจัดกระจายเข้าไปอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะมีการใช้ที่ดินกันอย่างขาดความระมัดระวังและไม่มีการบำรุงรักษา ซึ่งทำให้คุณภาพของดินเสื่อมโทรมทั้งด้านเคมีและกายภาพ

ปัญหาเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไขย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องของทรัพยากรที่ดิน ทั้งในแง่ของปัญหาดินที่เสื่อมโทรม ขาดคุณภาพ และการขาดแคลนที่ดินทำกินสำหรับเกษตรกร แนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรที่ดินสามารถแบ่งได้เป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่

1. การจัดและพัฒนาที่ดิน

ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร เป็นปัญหาสำคัญยิ่งในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา งานจัดและพัฒนาที่ดินเป็นงานแรก ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญ ทรงเริ่มโครงการพัฒนาที่ดินหุบกะพง ตามพระราชประสงค์ เมื่อปี พ.ศ.2511 โดยมุ่งแก้ไขปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินของเกษตรกรเป็นสำคัญ ดังพระราชดำรัสที่ว่า

"…มีความเดือดร้อนอย่างยิ่งว่าประชาชนในเมืองไทยจะไร้ที่ดิน และถ้าไร้ที่ดินแล้วก็จะทำงานเป็นทาสเขา ซึ่งเราไม่ปรารถนาที่จะให้ประชาชนเป็นทาสคนอื่น แต่ถ้าเราสามารถที่จะขจัดปัญหานี้ โดยเอาที่ดินจำแนกจัดสรรอย่างยุติธรรม อย่างมีการจัดตั้งจะเรียกว่านิคมหรือจะเรียกว่าหมู่หรือกลุ่ม หรือสหกรณ์ก็ตาม ก็จะทำให้คนที่มีชีวิตแร้นแค้นสามารถที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้…"(สำนักงาน กปร., 2531: 94-5) พระราชดำริแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้ได้แก่ทรงนำเอาวิธีการปฏิรูปที่ดินมาใช้ในการจัดและพัฒนาที่ดินที่เป็นป่าเสื่อมโทรม ทิ้งร้าง ว่างเปล่า นำมาจัดสรรให้เกษตรกรที่ไร้ที่ทำกิน ได้ประกอบอาชีพ ในรูปของหมู่บ้านสหกรณ์ และโครงการจัดและพัฒนาที่ดินในรูปแบบอื่น ๆ ทั้งนี้โดยให้สิทธิทำกินชั่วลูกชั่วหลาน แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ในการถือครอง พร้อมกับจัดบริการพื้นฐาน ให้ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการจัดพื้นที่ทำกินให้ราษฎรชาวไทยภูเขา สามารถดำรงชีพอยู่ได้เป็นหลักแหล่ง โดยไม่ต้องทำลายป่าอีกต่อไป ในการจัดพื้นที่ต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีหลักการว่าต้องมีการวางแผนการจัดการให้ดีเสียตั้งแต่ต้น โดยใช้แผนที่ และภาพถ่ายทางอากาศช่วยในการวางแผน ไม่ควรทำแผนผังที่ทำกินเป็นลักษณะตารางสี่เหลี่ยมเสมอไป โดยไม่คำนึงถึงสภาพภูมิประเทศ แต่ควรจัดสรรพื้นที่ทำกินแนวพื้นที่รับน้ำจากโครงการชลประทาน นั่นคือจะต้องดำเนินโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น โครงการนิคมสหกรณ์หุบกะพง (ในพระบรมราชูปถัมภ์) อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โครงการจัดพัฒนาที่ดินทุ่งลุยลาย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ และโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ "หนองพลับ" อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเหล่านี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ (ก) เพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ในด้านการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด (ข) เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรมีที่ดินสำหรับประกอบอาชีพและอยู่อาศัย (ค) เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรรู้จักพึ่งตนเอง และช่วยเหลือส่วนรวม ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้บางโครงการมีวัตถุประสงค์เฉพาะกิจในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องที่ทำกินของราษฎรที่ถูกอพยพออกจากพื้นที่

2. การพัฒนาและอนุรักษ์ดิน

หลังจากงานจัดสรรที่ดินทำกินในระยะแรกแล้ว แนวพระราชดำริในการจัดการทรัพยากรดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ขยายขอบเขตไปสู่เรื่องการพัฒนาและอนุรักษ์ดินเพื่อการเกษตรกรรม เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้นหรือรักษาไว้ไม่ให้ตกต่ำ เช่น การวิจัยและการวางแผนการใช้ที่ดินเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับลักษณะสภาพดิน การศึกษาเพื่ออนุรักษ์บำรุงรักษาและฟื้นฟูดิน มรรควิธีส่วนใหญ่เป็นวีธีการตามธรรมชาติที่พยายามสร้างความสมดุลของระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมให้เกิดขึ้น เช่น ให้มีการปลูกไม้ใช้สอยร่วมกับการปลูกพืชไร่เพื่อประโยชน์ให้ได้ร่มเงาและรักษาความชุ่มชื้น หรือการปลูกพืชบางชนิดในพื้นที่ซึ่งดินไม่ดี แต่พืชชนิดนั้นให้ประโยชน์ในการบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนใช้ปุ๋ยเคมี พื้นที่บางแห่งไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชผล ทรงแนะนำให้ใช้ประโยชน์ด้านอื่น เช่น ฟื้นฟูเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

ในระยะต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญมากขึ้นในงานอนุรักษ์และฟื้นฟูที่ดินที่มีสภาพธรรมชาติและปัญหาที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค จึงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เน้นเฉพาะเรื่องมากขึ้น เช่น การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินทราย ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาดินพรุ ในภาคใต้ และที่ดินชายฝั่งทะเล รวมถึงงานในการแก้ไขปรับปรุงและฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรมพังทลายจากการชะล้างหน้าดิน ตลอดจนการทำแปลงสาธิตการพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในบางพื้นที่ที่มีปัญหาในเรื่องดินเสื่อมโทรมด้วยสาเหตุต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดินทั้งหลาย สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อีก โครงการต่าง ๆ ในระยะหลังจึงเป็นการรวบรวมความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติจากหลากหลายสาขามาใช้ร่วมกันในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และที่ปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ แนวคิดและตัวอย่างการจัดการทรัพยากรดินในศูนย์ศึกษาการพัฒนาทุกแห่ง พระราชดำริและพระราชกรณียกิจในการดำเนินงานด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ดินที่สำคัญ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ

ก) แบบจำลองการพัฒนาพื้นที่ที่มีสภาพขาดความอุดมสมบูรณ์ การจัดการทรัพยากรดินโดยการอนุรักษ์บำรุงรักษาดินที่มีสภาพขาดความอุดมสมบูรณ์ ดินปนทราย และมีปัญหาการชะล้างพังทลายของดินมีแบบจำลองอยู่ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการสร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นตัวอย่างในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การขยายพันธุ์พืช เพื่ออนุรักษ์ดินและบำรุงดิน และสนับสนุนให้เกษตรกรเรียนรู้เข้าใจวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน และสามารถนำไปปฏิบัติได้เอง โดยทรงมีพระราชดำริว่า "…การปรับปรุงที่ดินนั้นต้องอนุรักษ์ผิวดิน ซึ่งมีความสมบูรณ์ไว้ไม่ให้ไถ หรือลอกหน้าดินทิ้งไป สงวนไม้ยืนต้น ที่ยังเหลืออยู่ เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื่นของผืนดิน..." ( สำนักงาน กปร., 2542)

ข) การแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวด้วยวิธี "การแกล้งดิน" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับทราบความเดือดร้อนของพสกนิกรในภาคใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในจังหวัดนราธิวาส ที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาดินพรุเพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุ ซึ่งเป็นดินเปรี้ยวให้เป็นดินที่มีคุณภาพ สามารถทำการเพาะปลูกได้ พระองค์ทรงแนะนำให้ใช้วิธี "การแกล้งดิน" คือ เริ่มจากการแกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินพรุที่มีสารประกอบของกำมะถันที่จะทำให้ดินมีสภาพเป็นกรดจัดเมื่อดินแห้ง จากนั้นก็จึงทำการปรับปรุงดินที่เป็นกรดจัดนั้นด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่จะลดความเป็นกรดลงมาให้อยู่ในระดับที่จะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวได้

ค) "หญ้าแฝก" กับการอนุรักษ์ดินและฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมสภาพ พื้นที่ดินในประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความลาดชันเช่นพื้นที่เชิงเขาอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเนื่องมาจากการชะล้างพังทลายของดิน ทำให้เกิดการสูญเสียธาตุอาหารในดินและความอุดมสมบูรณ์ของดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริในการที่จะป้องกันการเสื่อมโทรมและการพังทลายของดินโดยใช้วิถีธรรมชาติ คือการใช้หญ้าแฝก

เมื่อวันที่22 มิถุนายน พ.ศ.2534 ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกเป็นครั้งแรกกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการสำนักงาน กปร. ในขณะนั้นว่า ให้ทำการศึกษาทดลองปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และอนุรักษ์ ความชุ่มชื้นไว้ในดิน เพราะขั้นตอนการดำเนินงานเป็นวิธีการแบบง่าย ๆ ประหยัด และที่สำคัญคือเกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ โดยไม่ต้องให้การดูแลภายหลังการปลูกมากนัก และได้พระราชทานพระราชดำริอีกหลายครั้งเกี่ยวกับการนำหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์ในลักษณะต่าง ๆ การดำเนินโครงการต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ ทรงเน้นอยู่เสมอว่ากระบวนการพัฒนาที่ดินทั้งหมดนี้ จะต้องชี้แจงให้ราษฎร ซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์ มีส่วนร่วมและลงมือลงแรงด้วย (สำนักงาน กปร., 2542)

ตัวอย่างของการจัดการทรัพยากรดินด้วยการอนุรักษ์ดินและฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมสภาพ โดยการป้องกันการเสื่อมโทรมและการชะล้างพังทลายของดินด้วยการปลูก "หญ้าแฝก" พืชจากพระราชดำริที่ทำหน้าที่เป็นกำแพงที่มีชีวิตในการอนุรักษ์และคืนธรรมชาติสู่แผ่นดิน ได้แก่โครงการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี และได้มีการนำมรรควิธีนี้ไปศึกษาวิจัย และนำไปสาธิตในท้องที่ต่าง ๆ ที่มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ตั้งอยู่ รวมทั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอื่น ๆ เช่น โครงการพัฒนาหญ้าแฝกในโครงการพัฒนาดอยตุง เพื่อให้เกษตรกรได้รับทราบและนำไปปฏิบัติให้บังเกิดผลดีแก่ตัวเกษตรกรเอง และสังคมโดยรวม

3. การดำเนินการเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน "ป่าเตรียมสงวน"

ทรงมีพระราชดำริว่า ปัญหาการบุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินของรัฐโดยราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นหลักแหล่งจะทวีความรุนแรงขึ้น จึงทรงพระราชทานแนวทางการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ สำหรับที่ดินป่าสงวนที่เสื่อมโทรมและราษฎรได้เข้าไปทำกินอยู่แล้วนั้น รัฐน่าจะดำเนินการตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้กรรมสิทธิ์แก่ราษฎรในการทำกินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่มิได้เป็นการออกโฉนดที่จะสามารถนำไปซื้อขายได้ เพียงแต่ควรออกใบหนังสือรับรองสิทธิทำกิน (สทก.) แบบสามารถเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทให้สามารถทำกินได้ตลอดไป และด้วยวิธีการนี้จะช่วยให้ราษฎรมีกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของตนเองและครอบครัว โดยไม่อาจนำที่ดินนั้นไปขายและจะไม่ไปบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนอื่น ๆ อีกต่อไป (สำนักงาน กปร., 2531: 96) พระองค์ทรงมีพระราชดำริเพิ่มเติมว่า ควรมีการประกาศเกี่ยวกับป่าสงวน ในกรณีที่สภาพป่ายังไม่เสื่อมโทรมมากนัก โดยเจ้าหน้าที่ควรวางมาตรการป้องกันมิให้มีการทำลายป่า และควรชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงความสำคัญของการมีป่า ทั้งนี้ การที่ให้เรียกว่า "ป่าเตรียมสงวน" นั้น ก็เพื่อป้องกันมิให้มีผู้บุกรุกเข้ามาจับจองที่ดินในป่า แต่หากเรียกว่า "ป่าสงวน" แล้ว ผู้ที่อาศัยอยู่ในป่ามาเป็นเวลานานแล้วจะถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่าสงวนและถูกไล่ที่ ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อทางราชการมากขึ้น (สุพัตรา, 2540: 126) โดยในส่วนของราษฎรที่อาศัยอยู่ในป่ามาเป็นเวลานานแล้วก็ให้ดำเนินการให้ได้รับเอกสารสิทธิ์ที่เรียกว่า สทก. เช่นเดียวกัน แนวทางนี้จะทำให้ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจขณะเดียวกันจะช่วยลดความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรและปัญหาทางสังคม ซึ่งถือได้ว่าเป็นแนวทางการจัดการทรัพยากรที่ดิน ป่าไม้ และน้ำ ไปพร้อมกันอย่างชาญฉลาด

จากแนวพระราชดำริในการจัดการทรัพยากรที่ดินดังได้กล่าวทั้ง 3 ส่วน จึงได้มีการดำเนินงานในหลาย ๆ ท้องที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น แทบทุกโครงการมักจะมีเรื่องการพัฒนาจัดสรรปรับปรุงบำรุงดิน และการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมแทรกอยู่ด้วยเสมอ เป็นผลให้เกษตรกรทั่วไปมีความรู้ความสามารถในด้านการจัดการและพัฒนาทรัพยากรที่ดินด้วยการปรับปรุงบำรุงดินและอนุรักษ์ดินและน้ำ จนทำให้พื้นที่ในหลาย ๆ แห่งเกิดความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์ ทำให้การผลิตทางการเกษตรมีประสิทธิภาพสูงขึ้น อันหมายถึงรายได้และมาตรฐานความเป็นอยู่ของเกษตรกรเหล่านี้ย่อมดีขึ้นด้วย (สำนักงาน กปร., 2531: 96)

4. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการจัดการทรัพยากรประมง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีว่าประชาชนในชนบทยังขาดสารอาหารโปรตีนซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และสัตว์น้ำจำพวกปลาน้ำจืดเป็นแหล่งอาหารราคาถูกที่ให้สารอาหารโปรตีน ประกอบกับสามารถหาได้ในท้องถิ่นชนบททั่วประเทศ จึงทำให้ปลาเป็นอาหารที่สำคัญและเป็นอาหารหลักของราษฎรในชนบท แต่การที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วประกอบกับแหล่งน้ำธรรมชาติมีความเสื่อมโทรม ทำให้ปริมาณการผลิตปลาจากแหล่งน้ำเหล่านี้ไม่เพียงพอกับความต้องการโดยเฉพาะสำหรับประชาชนที่ยากจนในชนบท แนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจในด้านการจัดการทรัพยากรประมง มีดังต่อไปนี้

1. โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มีบ่อเพาะเลี้ยงปลานิล และมีพันธุ์ปลาพระราชทาน มีบ่อเพาะพันธุ์จำนวน 6 บ่อ สามารถผลิตลูกปลานิลพระราชทานในปี พ.ศ.2538 จำนวน 42,485 ตัว (สำนักพระราชวัง, 2539:25) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพันธุ์ปลาไปทั่วประเทศ บ่อยครั้งที่ทรงปล่อยปลาลงตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองเพื่อให้มีทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น

2. งานศึกษาวิจัยด้านการจัดการทรัพยากรประมงน้ำจืด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้มีกิจกรรมการทดลองค้นคว้าวิจัยทางด้านการประมง ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง โดยทรงเน้นให้ทำการศึกษาการพัฒนาด้านการประมง ซึ่งมิใช่การศึกษาวิจัยทางด้านวิชาการชั้นสูง แต่ต้องศึกษาในด้านวิชาการที่จะนำผลมาใช้ในท้องที่และสามารถปฏิบัติได้จริง เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างการค้นคว้าเชิงวิชาการชั้นสูงกับการนำความรู้ที่ค้นพบมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการประกอบอาชีพของประชาชน เพื่อให้เกษตรกรทั่วไปที่ไม่มีความรู้มากนักสามารถนำไปปฏิบัติได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงห่วงใยถึงการทำประมงของราษฎรและทรงตระหนักถึงความจำเป็นในการจัดการทรัพยากรประมง จึงโปรดให้มีกิจกรรมการทดลองวิจัยทางด้านการจัดการทรัพยากรประมง ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ โดยให้จัดระเบียบในด้านการบริหารการจับปลาไม่ให้มีการแก่งแย่งและเอาเปรียบกัน และไม่ทำลายพันธุ์ปลา ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยการจัดตั้งเป็นกลุ่มและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการ (สำนักงาน กปร., 2531: 52)

3. งานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรประมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในด้านการจัดการทรัพยากรประมง โดยทรงมุ่งมั่นในงานด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรประมงควบคู่ไปกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งกระจายครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ เช่น โครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลาในศูนย์ศึกษาการพัฒนาปลวกแดง จังหวัดระยอง - ชลบุรี (ทบวงมหาวิทยาลัย, 2540: 101-2) ด้วยการสงวนพันธุ์และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ พร้อมเร่งรัดปล่อยพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาโตเร็วที่เหมาะสมในแต่ละท้องที่ลงในแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อให้มีสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ เป็นแหล่งอาหารโปรตีนของประชาชนไว้บริโภคตลอดไป ในกรณีที่ปลาบางชนิดซึ่งเป็นปลาที่หายากและมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนลดน้อยลงจนอาจสูญพันธุ์ได้ เช่นปลาบึก ซึ่งเป็นปลาในสกุล Catfish ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีอยู่แต่เฉพาะในแม่น้ำโขงเท่านั้น พระองค์ก็ทรงห่วงใยและทรงให้ทำการค้นคว้าหาวิธีการที่จะอนุรักษ์พันธุ์ปลาชนิดนี้ไว้ให้ได้ พร้อมทั้งทรงให้กำลังใจแก่ผู้ค้นคว้าตลอดเวลา จนในที่สุดก็สามารถผสมเทียมพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้สำเร็จ (สำนักงาน กปร., 2531: 52)

4. การจัดการทรัพยากรประมงที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ได้ทรงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาวิจัยตามแนวพระราชดำริเพื่อหาแนวทางการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำอย่างยั่งยืน รวมทั้งการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายฝั่งแบบอเนกประสงค์และเกื้อกูลกัน ณ "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน" จังหวัดจันทบุรี โดยได้มีการพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบพัฒนา ผสมผสานกับการอนุรักษ์และปลูกป่าชายเลนทดแทนเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชดำริในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ และความขัดแย้งระหว่างนาข้าว กับนากุ้ง โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำ "โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง" จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อให้มีการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้วยการกำหนดเขตการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำให้เป็นสัดส่วน และให้มีการสร้างเขื่อนป้องกันไม่ให้น้ำเค็มเข้ามาทำความเสียหายให้กับนาข้าว และยังทรงแนะนำให้มีการบำบัดน้ำเสียจากการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำก่อนที่จะปล่อยทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ รวมทั้งการจัดทำระบบชลประทานน้ำเค็ม และคลองระบายน้ำเสียแยกจากกันในบริเวณโครงการฯ วิธีการนี้ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกทำลายจากการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำลดลง อันจะนำไปสู่การพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำอย่างยั่งยืน

5. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการจัดการทรัพยากรการผลิตทางการเกษตร

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรการผลิตทางการเกษตรมุ่งที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรภายใต้ข้อจำกัดของสภาพภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งตัวเกษตรกรเองด้วย การจัดการทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ที่ดิน แหล่งน้ำ ฯลฯ มุ่งให้อยู่ในสภาพที่จะมีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มากที่สุด แนวพระราชดำริที่สำคัญ คือ การที่ทรงเน้นในเรื่องของ การทดลอง ค้นคว้า และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ ๆ ทั้ง พืชเศรษฐกิจ และพืชเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน รวมถึงพืชสมุนไพร ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช และแนวทางการจัดการทรัพยากรระดับไร่นา เพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้ ราคาถูก และใช้เทคโนโลยีที่ง่าย และไม่สลับซับซ้อน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถรับไปดำเนินการเองได้ และที่สำคัญ คือจะต้องเหมาะสมกับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น นั้น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตามการทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้โดยเฉพาะในด้านอาหาร ก่อน เป็นพระราชประสงค์อันดับแรก

พระราชดำริและพระราชกรณียกิจที่สำคัญและสมควรได้รับการกล่าวถึงเกี่ยวกับการผลิตทางการเกษตร ได้แก่

1. ทฤษฎีการพัฒนาการเกษตรแบบ "พึ่งตนเอง" และ "เศรษฐกิจพอเพียง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาเพื่อการพัฒนาการเกษตรแบบพี่งตนเอง (Self Reliance) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 โดยทรงเน้นให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองและช่วยเหลือตนเองเป็นหลักสำคัญ และมีพระราชประสงค์เป็นประการแรก คือ การทำให้เกษตรกร สามารถพึ่งตนเองได้ในด้านอาหาร ก่อน เป็นอันดับแรก เช่น ข้าว พืชผัก ผลไม้ ฯลฯ แนวพระราชดำริที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่ทรงพยายามเน้นมิให้เกษตรกรพึ่งพาอยู่กับพืชเกษตรแต่เพียงชนิดเดียว เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายสูง เนื่องจากความแปรปรวนของราคา และความไม่แน่นอน ของธรรมชาติ ทางออกก็คือ นอกจากจะปลูกพืชหลายชนิดแล้ว เกษตรกรควรจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากภาคเกษตร เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ซึ่งดำเนินงานสนับสนุนงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปัจจุบัน (สำนักงาน กปร., 2542)

2. ทฤษฎีใหม่ : แนวทางการจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน

ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร เป็นปัญหาสำคัญยิ่งในปัจจุบัน และการประกอบอาชีพทางการเกษตรโดยเฉพาะในเขตที่ใช้น้ำฝนทำนาเป็นหลัก เกษตรกรจะมีความเสี่ยงสูง เป็นเหตุให้ผลผลิตข้าวอยู่ในระดับต่ำ ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ด้วยพระอัจฉริยะในการแก้ปัญหา จึงได้พระราชทาน "ทฤษฎีใหม่" ให้ดำเนินการในพื้นที่ทำกินที่มีขนาดเล็ก ประมาณ 15 ไร่ ด้วยวิธีการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาอย่างเหมาะสม ด้วยการจัดสรรการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยให้มีการจัดสร้างแหล่งน้ำในที่ดินสำหรับการทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างได้ผล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ให้มีรายได้ไว้ใช้จ่ายและมีอาหารไว้บริโภคตลอดปี (กรมวิชาการ, 2539: 77) ซึ่งได้ดำเนินการอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพื่อการผลิตทางเกษตรกรรมที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรชาวไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า "…ถึงบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้จะทำความเจริญแก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน…" (สำนักพระราชวัง, 2542: 31)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำการศึกษาและวิจัยเชิงปฏิบัติ เกี่ยวกับทฤษฎีใหม่มาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 ในพื้นที่ส่วนพระองค์ขนาด 16 ไร่2 งาน23 ตารางวาใกล้วัดมงคล ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี และทรงมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนาที่ทรงจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเสริมโครงการของรัฐ ทั้งนี้ก่อนที่จะทรงนำเอกสารออกเผยแพร่อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2537 นั้น ทรงให้จัดตั้ง "ศูนย์บริหารพัฒนา" ตามแนวพระราชดำริ อยู่ในความรับผิดชอบของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเป็นต้นแบบสาธิตการพัฒนาด้านการเกษตรโดยประสานความร่วมมือระหว่าง วัด ราษฎรและรัฐ ทำการเผยแพร่อาชีพการเกษตรและจริยธรรมแก่ประชาชนในชนบท โดยทรงหวังว่าหากประสบความสำเร็จก็จะใช้เป็นแนวทางสาธิตในท้องที่อื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของการพัฒนาด้านการเกษตรนั้น ก็คือแนวคิดและมรรควิธีที่รู้จักกันในนาม "เกษตรทฤษฎีใหม่" (อำพล,2542: 3-4)

พระราชดำริ "ทฤษฎีใหม่" เป็นแนวทางหรือหลักการในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาคือที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการดำเนินการทฤษฎีใหม่ ได้พระราชทานขั้นตอนดำเนินงาน ดังนี้ ขั้นที่ 1 ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น สถานะพื้นฐานของเกษตรกร คือ มีพื้นที่น้อย ค่อนข้างยากจน อยู่ในเขตเกษตรน้ำฝนเป็นหลัก โดยในขั้นที่ 1 นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพของการผลิต เสถียรภาพด้านอาหารประจำวัน ความมั่นคงของรายได้ ความมั่นคงของชีวิต และความมั่นคงของชุมชนชนบท เป็นเศรษฐกิจพึ่งตนเองมากขึ้น มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ให้แบ่งพื้นที่ ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 ซึ่งหมายถึง พื้นที่ส่วนที่หนึ่งประมาณ 30% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝนและ ใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่าง ๆ (สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด ฯ ได้ด้วย) พื้นที่ส่วนที่สองประมาณ 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันในครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้ พื้นที่ส่วนที่สามประมาณ 30% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย และพื้นที่ส่วนที่สี่ประมาณ 10% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่น ๆ (ถนน คันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น)

ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ลงมือปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่งในที่ดินของตนเป็นระยะเวลาพอสมควรจนได้ผลแล้ว เกษตรกรก็จะพัฒนาตนเองจากขั้น "พออยู่พอกิน" ไปสู่ขั้น "พอมีอันจะกิน" เพื่อให้มีผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงควรที่จะต้องดำเนินการตามขั้นที่สองและขั้นที่สามต่อไปตามลำดับ (มูลนิธิชัยพัฒนา, 2542)

ขั้นที่2 ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว ก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือ ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่ม หรือ สหกรณ์ ร่วมแรง ร่วมใจกันดำเนินการในด้าน
1. การผลิต เกษตรกรจะต้องร่วมมือในการผลิตโดยเริ่มตั้งแต่ ขั้นเตรียมดิน การหาพันธุ์พืช ปุ๋ย การหาน้ำ และอื่น ๆ เพื่อการเพาะปลูก
2. การตลาด เมื่อมีผลผลิตแล้ว จะต้องเตรียมการต่าง ๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การจัดหายุ้งรวบรวมข้าว เตรียมหาเครื่องสีข้าว ตลอดจนการรวมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดี และลดค่าใช้จ่ายลงด้วย
3. ความเป็นอยู่ ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร โดยมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหารการกินต่าง ๆ กะปิ น้ำปลา เสื้อผ้า ที่พอเพียง
4. สวัสดิการ แต่ละชุมชนควรมีสวัสดิการและบริการที่จำเป็น เช่น มีสถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้ หรือมีกองทุนไว้ให้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ
5. การศึกษา มีโรงเรียนและชุมชนมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนให้แก่เยาวชนของชุมชนเอง
6. สังคมและศาสนา ชุมชนควรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาสังคมและจิตใจ โดยมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยว

กิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นเป็นสำคัญ
ขั้นที่ 3 ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เมื่อดำเนินการผ่านพ้นขั้นที่สองแล้ว เกษตรกรจะมีรายได้ดีขึ้น ฐานะมั่นคงขึ้น เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือ ติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร หรือบริษัทห้างร้านเอกชน มาช่วยในการทำธุรกิจ การลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคารกับบริษัท จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา)

ธนาคารกับบริษัทสามารถซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ (ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกรและมาสีเอง)
เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคได้ในราคาต่ำ เพราะรวมกันซื้อเป็นจำนวนมาก (เป็นร้านสหกรณ์ ซื้อในราคาขายส่ง)
ธนาคารกับบริษัทจะสามารถกระจายบุคลากร (เพื่อไปดำเนินการในกิจกรรมต่าง ๆ ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น)

ในปัจจุบันนี้ได้มีการนำเอาเกษตรทฤษฎีใหม่ไปทำการทดลองขยายผล ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการจัดทำแปลงสาธิต จำนวน25 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพภาค กระทรวงกลาโหม และกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการดำเนินงานให้มีการนำเอาทฤษฎีใหม่นี้ไปใช้อย่างกว้างขวางขึ้น

3. เกษตรยั่งยืนและระบบเกษตรธรรมชาติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นความสำคัญในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาในลักษณะที่จะมุ่งใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ซึ่งจะมีความสอดคล้องกับวิธีการที่สำคัญของพระองค์อีกประการหนึ่งคือ การประหยัด ทรงเน้นความจำเป็นที่จะลดค่าใช้จ่ายในการทำมาหากินของเกษตรกรลงให้เหลือน้อยที่สุด โดยอาศัยพึ่งพิงธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญ วิธีการของพระองค์มีตั้งแต่การสนับสนุนให้เกษตรกรใช้โคกระบือในการทำนามากกว่าการใช้เครื่องจักร ให้มีการปลูกพืชหมุนเวียน โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว เพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ย หรือกรณีที่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยก็ทรงสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยธรรมชาติแทนปุ๋ยเคมีซึ่งมีราคาแพง รวมทั้งให้หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพของดินในระยะยาว ทำให้ราษฎรอยู่ในชุมชนและสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี และมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของ "การเกษตรยั่งยืน"(กรมวิชาการเกษตร,2539: 170-1)

ระบบเกษตรยั่งยืนควรมีลักษณะการจัดการทรัพยากรการผลิตทางการเกษตรที่เลียนแบบระบบนิเวศของป่าธรรมชาติ คือมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีกลไกควบคุมตัวเอง มีการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกน้อยที่สุดตามความจำเป็น สำหรับการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชพยายามลดการใช้สารเคมี โดยการใช้วิธีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน กล่าวคือควรให้ความสำคัญกับระบบการปลูกพืชที่เกื้อกูลกันเพื่อสร้างความสมดุลตามธรรมชาติในระบบการเกษตร (สุพัตรา, 2540: 76-7)

ในปัจจุบัน มีการทดลองวิธีการเกษตรยั่งยืนในพื้นที่ศูนย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดเพชรบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ เป็นต้น มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นไปตามแนวพระราชดำริและสอดคล้องกับหลักการของเกษตรยั่งยืน ที่สำคัญได้แก่ ระบบการปลูกพืชหมุนเวียน ระบบการเกษตรแบบผสมผสาน ระบบวนเกษตร และระบบเกษตรธรรมชาติ

6. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่มีความสำคัญที่มักจะเกิดควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและความเจริญก้าวหน้า ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของทุกประเทศ กล่าวคือ การพัฒนายิ่งรุดหน้าปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและภาวะมลพิษก็ยิ่งก่อตัวและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่กำลังประสบกับปัญหาดังกล่าวอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ แต่ไม่ได้มีการวางแผนการจัดการที่เหมาะสมรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่มีสภาพเสื่อมโทรมลง และปัญหาต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มขึ้น ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบนิเวศ จึงทรงให้มีการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวิธีการที่จะทำนุบำรุงและปรับปรุงสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ โดยในด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ทรงเน้นงานการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของปัญหาน้ำเน่าเสีย พระราชดำริ พระราชกรณียกิจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญได้แก่ หลักการ "น้ำดีไล่น้ำเสีย" หลักการบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบการเติมอากาศ ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดและวัชพืชบำบัด และ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ซึ่งมีสาระโดยสรุปดังนี้คือ

1. ทฤษฎี "น้ำดีไล่น้ำเสีย" ได้ทรงนำหลักการบำบัดน้ำเสียโดยการทำให้เจือจางตามแนวทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ "น้ำดีไล่น้ำเสีย" โดยใช้หลักการตามธรรมชาติแห่งแรงโน้มถ่วงของโลก เป็นการใช้น้ำคุณภาพดีมาช่วยบรรเทาน้ำเน่าเสีย ดังพระราชดำรัสเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ในอำเภอธัญบุรี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2532 "…แต่ 3,000 ไร่นั่นมันอยู่สูง จะนำน้ำโสโครกจากที่นี่ไปที่โน้นต้องสูบไปไม่ไหว แต่ว่าจะทำเป็นบึงใหญ่ที่จะเก็บน้ำได้สำหรับเวลาหน้าน้ำมีน้ำเก็บเอาไว้ หน้าแล้งก็ปล่อยลงมา ส่วนหนึ่งอาจปล่อยลงมาสำหรับล้างกรุงเทพ ได้เจือจางน้ำโสโครกในคลองต่าง ๆ…" (สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม, 2534: 31-2)

อีกทั้งได้พระราชทานแนวพระราชดำริโดยรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งเข้าไปตามคลองต่าง ๆ เช่น คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองแสนแสบ คลองเทเวศร์ และคลองบางลำภู เป็นต้น โดยกระแสน้ำจะไหลแผ่กระจายขยายไปตามคลองซอยที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่ง ดังนั้นเมื่อทำการปล่อยน้ำให้ไหลเวียนจากปากคลองไปปลายคลองได้อย่างเหมาะสม ก็ย่อมจะช่วยเจือจางน้ำเน่าเสียได้มากโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง (สำนักงาน กปร., 2540: 101)

2. การบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในการปรับปรุงคุณภาพของแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้ว เช่น บึงและหนองต่าง ๆ เพื่อทำเป็นแหล่งบำบัดน้ำเสีย โดยหนึ่งในจำนวนนั้นได้แก่ โครงการบึงมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหลักการบำบัดน้ำเสีย ตามแนวทฤษฎีการพัฒนาโดยการกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา

3. การบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบเติมอากาศ ด้วยทรงห่วงใยในปัญหาน้ำเน่าเสียที่เกิดขึ้นในหนองหนองหาน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นแหล่งรับน้ำเสียจากครัวเรือนในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร ที่มีสภาพเกินขีดความสามารถในการรองรับของเสีย พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานแนวพระราชดำริ ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบการเติมอากาศ ณ บริเวณหนองสนม-หนองหาน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างวิธีธรรมชาติกับเทคโนโลยีแบบประหยัด โดยมีกรมประมงร่วมกับกรมชลประทานดำเนินการศึกษาและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียในบริเวณดังกล่าว โดยมีระบบบำบัดด้วยพืชน้ำซึ่งเป็นวิธีการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติในพื้นที่ 84.5 ไร่ และได้มีการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2537 (สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, 2539:222)

4. การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดและวัชพืชบำบัด โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงปัญหาภาวะมลพิษที่มีผลต่อการดำรงชีพของประชาชน อันเนื่องมาจากชุมชนเมืองต่าง ๆ ยังขาดระบบบำบัดน้ำเสียและการกำจัดขยะมูลฝอยที่ดีและมีประสิทธิภาพ จึงทรงให้มีการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวขึ้นในพื้นที่ 1,135 ไร่ โดยเป็นโครงการศึกษาวิจัยวิธีการบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะมูลฝอยและการรักษาสภาพป่าชายเลนด้วยวิธีธรรมชาติ

5. กังหันน้ำชัยพัฒนา ในปัจจุบัน สภาพมลภาวะทางน้ำมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องกลเติมอากาศเพิ่มออกซิเจนเพื่อการบำบัดน้ำเสีย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับอุปกรณ์การเติมอากาศ และทรงค้นคิดทฤษฎีบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ โดยใช้วิธีทำให้อากาศสามารถละลายลงไปในน้ำเพื่อเร่งการเจริญเติบโตและการเพาะตัวอย่างรวดเร็วของแบคทีเรียจนมีจำนวนมากพอที่จะทำลายสิ่งสกปรกในน้ำให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว ตามแนวทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ซึ่งเป็นรูปแบบสิ่งประดิษฐ์ที่เรียบง่าย ประหยัด เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากแหล่งชุมชนและแหล่งอุตสาหกรรม และได้มีการนำไปใช้งานทั่วประเทศ (สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ,2539:218-9)

6. การกำจัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติ ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษา ทดลองวิจัยดูว่า จะใช้ปลาบางชนิดกำจัดน้ำเสียได้หรือไม่ ปลาเหล่านี้น่าจะเข้าไปกินสารอินทรีย์ในบริเวณแหล่งน้ำเสีย ซึ่งปรากฏว่าปลาบางสกุลมีอวัยวะพิเศษในการหายใจ เช่น ปลากระดี่ ปลาสลิด เหมาะแก่การเลี้ยงในน้ำเสีย และชอบกินสารอินทรีย์ จึงช่วยลดมลภาวะในแหล่งน้ำ วิธีการนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการกำจัดน้ำเสียได้ ซึ่งจะมีต้นทุนต่ำ และสามารถเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำได้อีกทางหนึ่ง (สำนักงาน กปร., 2531: 52)

ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization : FAO) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญสดุดีพระเกียรติคุณในด้านการพัฒนาการเกษตร (Agricola Medal) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2538 ในฐานะที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอุทิศพระองค์ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยโดยเฉพาะผู้ซึ่งประกอบอาชีพเพาะปลูก บำรุงรักษาน้ำ และบำรุงรักษาป่า ซึ่งทรงยึดหลัก "สนับสนุนการพัฒนาแบบยั่งยืนเพื่อความมั่นคงในอนาคต" เป็นหลักปฏิบัติ เพื่อให้ประจักษ์ชัดเจนจากความสำเร็จในด้านการพัฒนา โดยองค์การฯ สดุดีพระองค์ว่า ทรงพระปรีชาสามารถเกี่ยวกับความยุติธรรมของสังคม ซึ่งได้ปรากฏเห็นเป็นตัวอย่างจากนโยบายเรื่องการแบ่งที่ดินทำกินเพื่อเกษตรกรและผู้ทำนุบำรุงรักษาป่า ทรงวิริยะอุตสาหะในเรื่องการกักเก็บน้ำให้เพียงพอเพื่อประกันผลผลิตอาหาร การอนุรักษ์สันปันน้ำและป้องกันการกัดเซาะผิวดิน ทรงสนับสนุนเผยแพร่การเกษตรสมบูรณ์ ซึ่งรวบรวมแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก และขยายพันธุ์สัตว์ให้เจริญเติบโตขึ้น ตลอดจนการบำรุงผิวดิน ทรงมีพระอุตสาหะอันสูงส่งในการสงวนรักษาพันธุ์พืช ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อมนุษยชาติในการค้นคว้าเรื่องอาหาร ทั้งนี้ เนื่องจากทรงมีสายพระเนตรอันกว้างไกลในการที่จะทำให้โลกปราศจากความหิวโหย และประชาชนมีอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีวิต

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



   พระราชประวัติในหลวง ประวัติในหลวง

ในหลวง - King of Thailand


เว็บไซต์เทิดพระเกียรติ ในหลวง

 
คำสืบค้นเกี่ยวกับ ในหลวง : ประวัติในหลวง | พระราชกรณียกิจของในหลวง | พระราชดำรัสในหลวง | รูปในหลวง | ภาพในหลวง | ร่วมถวายความอาลัยแด่พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

แนะนำ ติ-ชม หรือหากคุณมีข่าวสารที่น่าสนใจต้องการนำเสนอ e-mail มาที่ contact